หมวดที่ 1 ข้อมูลทั่วไปหลักสูตร

ชื่อหลักสูตร

ชื่อภาษาไทย การจัดการการท่องเที่ยววิถีพร้าวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน
ชื่อภาษาอังกฤษ Creative Sustainable Coconut Folkway CBT Management

จำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร

30 หน่วยกิต (1 ชั่วโมง/ 1 หน่วยกิต)

รูปแบบของหลักสูตร

หลักสูตรความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับการใช้มะพร้าวในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นหลักสูตรสำหรับการศึกษาเรียนรู้เชิงสาธารณะตามอัธยาศัย และใช้ภาษาไทยในการศึกษาเรียนรู้

สถาบันดำเนินการ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ คณะอุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยว ภายใต้การ สนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

การให้ประกาศนียบัตร

ให้ประกาศนียบัตรเมื่อศึกษาเรียนรู้ตลอดหลักสูตรครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อแสดงว่าผู้ศึกษาเรียนรู้ ได้ รับความรู้และแนวทางในการจัดการการท่องเที่ยววิถีพร้าวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

สถานภาพของหลักสูตร

หลักสูตรท้องถิ่นออนไลน์ การจัดการการท่องเที่ยววิถีพร้าวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน (พ.ศ. 2564) ปรับปรุงมาจากความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการใช้มะพร้าวในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่ปรากฏในชุมชนท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอทับสะแก บางสะพาน และบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกแบบโดยความเห็นชอบร่วมกันของชุมชนที่เกี่ยวข้อง บูรณาการกับแนวทางการจัดการหลักสูตรโดยโครงการวิจัยของคณะอุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เป็นหลักสูตรสาธารณะเข้าถึงโดยบุคคลทั่วไปได้ง่ายผ่านระบบออนไลน์

ความเป็นมาของหลักสูตร

คณะอุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยว ได้มีแนวคิดในการรับรู้การมีอยู่ขององค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านั้น ไม่ได้เป็นองค์ความรู้เชิงวิชาการที่มีอยู่ในระบบการจัดการศึกษาเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา โดยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีความโดดเด่นเชิงพื้นที่ที่มีทั้งเมือง ป่าเขา พื้นที่การเกษตร ชายทะเล และทะเล ผู้คนประกอบอาชีพโดยใช้ทรัพยากรท้องถิ่นเกี่ยวเนื่องสอดคล้องกับลักษณะพื้นที่มาช้านาน ผ่านการบ่มเพาะองค์ความรู้และถ่ายทอดสืบสานกันในชุมชน เป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่น่าสนใจและควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ ในรูปแบบที่เหมาะสม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวและได้รับการส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด มีพื้นที่ท่องเที่ยวหลากหลาย โดยพื้นที่เมืองที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมการใช้ชีวิต เช่น เมืองหัวหิน เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมืองปากน้ำปราณ เป็นต้น ในขณะที่พื้นที่ป่าเขาในเขตอนุรักษ์ เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม เป็นต้น ส่วนพื้นที่ชายหาดและทะเล เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวผสมผสาน เช่น หาดหัวหิน หาดบ้านกรูด อ่าวบ่อทองหลาง อ่าวมะนาว เกาะทะลุ เป็นต้น และพื้นที่การเกษตร เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น พื้นที่ปลูกสับปะรด ในอำเภอปราณบุรี กุยบุรี และหัวหิน เป็นต้น รวมทั้งพื้นที่ปลูกมะพร้าว ในอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ทับสะแก บางสะพาน และบางสะพานน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะพร้าวทับสะแก ที่ได้รับการรับรองเป็นพืชบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ซึ่งในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาชาวสวนมะพร้าวประสบปัญหาราคาตกต่ำ และแมลงศัตรูพืชรบกวนอย่างหนัก ดังนั้น พื้นที่ปลูกมะพร้าวจึงมีความน่าสนใจที่จะให้ความช่วยเหลือในด้านใดด้านหนึ่ง คณะอุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยวในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีความเชียวชาญด้านการท่องเที่ยว มองเห็นว่า พื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นได้ตามศักยภาพที่มีอยู่ และเลือกพื้นที่ปลูกมะพร้าว ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิดในการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาพื้นที่ปลูกมะพร้าว และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการจัดการมะพร้าวในพื้นที่ ที่จะส่งผลให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวในเชิงการศึกษาเรียนรู้ และช่วยลดปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ ให้พื้นที่ปลูกมะพร้าวที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวได้เป็นพื้นที่เรียนรู้ผ่านช่องทางที่สะดวกและสามารถประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวมายังพื้นที่ที่เกี่ยวข้องได้ คณะอุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยวจึงเสนอแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นออนไลน์ การจัดการการท่องเที่ยววิถีพร้าวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการวิจัย เพื่อเป็นช่องทางในการศึกษาเรียนรู้องค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับมะพร้าวในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในขณะเดียวกันหลักสูตรจะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ปลูกมะพร้าวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปด้วย โดยทำการสำรวจชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่ปลูกมะพร้าว จากนั้น สำรวจวิถีชีวิตชาวสวนมะพร้าว เพื่อค้นหาองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับมะพร้าวที่สามารถนำมาส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน แล้วจัดการประชุมหารือเพื่อออกแบบหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของชุมชน และเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้ง เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชนเป้าหมายด้วย หลักสูตรท้องถิ่นออนไลน์ การจัดการการท่องเที่ยววิถีพร้าวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ที่ดำเนินการในพื้นที่อำเภอทับสะแก บางสะพาน และบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้องค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับวิถีมะพร้าวได้รับการอนุรักษ์ ในขณะเดียวกันหลักสูตรจะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนไปด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นหนทางหนึ่งในการลดปัญหามะพร้าวในพื้นที่ศึกษาได้

การบริหารจัดการหลักสูตร

หลักสูตร การจัดการการท่องเที่ยววิถีพร้าวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน เป็นหลักสูตรท้องถิ่นแบบออนไลน์ ที่สามารถสืบค้นได้จากระบบอินเตอร์เน็ต ผู้ที่สนใจทั่วไปที่มีอุปกรณ์มาตรฐานจึงสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกจากระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ของคณะอุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ภายใต้การดูแลของหัวหน้าโครงการวิจัยและผู้เกี่ยวข้อง โดยคณะอุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยวได้เชิญผู้รู้ของชุมชนเป็นวิทยากรประจำหลักสูตรรับผิดชอบรายวิชาต่างๆ ที่ตรงกับความรู้ความสามารถเชิงอาชีพที่เกี่ยวกับมะพร้าวของวิทยากรแต่ละท่าน รวมทั้ง เชิญตัวแทนชุมชนเป้าหมายเป็นประธานหลักสูตร และอาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยวเป็นที่ปรึกษาหลักสูตร ทั้งนี้ การศึกษาเรียนรู้ตลอดหลักสูตรจะเป็นการศึกษาเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ ที่มีสื่อเป็นข้อความ วีดีทัศน์ และแบบทดสอบ เป็นระบบที่ผู้ศึกษาเรียนรู้ดำเนินการได้ด้วยตนเอง ตั้งแต่ ลงทะเบียนเข้าศึกษาเรียนรู้จนถึงการรับประกาศนียบัตรเมื่อศึกษาเรียนรู้ตลอดหลักสูตรและผ่านเกณฑ์การประเมินผลการเรียนรู้ตามที่กำหนด ทั้งนี้ หากผู้ศึกษาเรียนรู้ต้องการปรึกษาวิทยากรในแต่ละรายวิชา สามารถเข้ารับคำปรึกษาผ่านกลุ่มไลน์สแควร์ โดยเข้าร่วมกลุ่ม “การท่องเที่ยววิถีพร้าวประจวบคีรีขันธ์” ได้ รวมทั้ง หลังการศึกษาเรียนรู้แล้ว มีความสนใจที่จะจัดกลุ่มไปศึกษาดูงานในชุมชนเป้าหมาย สามารถประสานงานกับชุมชนให้จัดการการศึกษาดูงานการท่องเที่ยววิถีพร้าวโดยชุมชนได้ด้วย

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

หลักสูตรท้องถิ่นออนไลน์ การจัดการการท่องเที่ยววิถีพร้าวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. ส่งเสริมผู้ศึกษาเรียนรู้ให้มีความเข้าใจในวิถีชาวสวนมะพร้าวในพื้นที่อำเภอทับสะแก บางสะพาน และบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
2. ส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์องค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับ วิถีชาวสวนมะพร้าว ที่สามารถถ่ายทอดไปยังบุคคลที่สนใจได้ในเชิง สาธารณะ
3. ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งจะเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นชาวสวนมะพร้าว จากกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งจะสามารถช่วยลดปัญหามะพร้าวได้ด้วยเศรษฐกิจฐานราก

ระบบการจัดการศึกษาเรียนรู้

เป็นหลักสูตรสาธารณะ การศึกษาเรียนรู้ในลักษณะการเรียนรู้ตามอัธยาศัย และให้ประกาศนียบัตรเมื่อศึกษาเรียนรู้ตลอดหลักสูตรครบถ้วนตามเกณฑ์หลักสูตรกำหนด ดังนี้

1. ผู้ศึกษาเรียนรู้ต้องศึกษาเรียนรู้ทุกรายวิชา
2. ผู้ศึกษาเรียนรู้ต้องทำแบบทดสอบทุกรายวิชา
3. ผู้ศึกษาเรียนรู้ต้องมีคะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบรวมทุกรายวิชาไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50
4. ผู้ศึกษาเรียนรู้สามารถเข้าศึกษาเรียนรู้ซ้ำได้ไม่จำกัดครั้งที่ศึกษาเรียนรู้
5. ผู้ศึกษาเรียนรู้สามารถรับประกาศนียบัตรผ่านระบบออนไลน์ได้ เมื่อผลการศึกษาเรียนรู้เป็น “ผ่าน”

การดำเนินการหลักสูตร

1. ระยะเวลาการศึกษาเรียนรู้ เป็นการศึกษาเรียนรู้ตามอัธยาศัย ไม่จำกัดเวลาและจำนวนครั้งในการเข้าศึกษาเรียนรู้
2. การลงทะเบียน ลงทะเบียนด้วยชื่อ-นามสกุล และ E-mail Address ในหน้าแรกของหลักสูตรทุกครั้ง ก่อนเข้าศึกษาเรียนรู้ในรายวิชาต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่มีข้อผูกมัดกับหน่วยงานดำเนินการ
3. คุณสมบัติผู้ศึกษาเรียนรู้ เป็นการศึกษาเรียนรู้เชิงสาธารณะไม่จำกัดเพศ วัย คุณวุฒิ และสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้
4. ระยะเวลาการสำเร็จการศึกษา ไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับผลการทดสอบผ่านเกณฑ์ที่หลักสูตรกำหนด